อาการและการตรวจระยะแรก


การตรวจหามะเร็งระยะเเรก
โรคมะเร็ง เป็นเหตุของการเสียชีวิต หนึ่งในสามอันดับแรก ของประชากรทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย เมื่อเอ่ยถึงโรคมะเร็ง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงความตาย แต่ในความเป็นจริง ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมาก ที่สามารถจะหายขาดจากโรคร้ายนี้ได้ โดยสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งก็คือ การตรวจพบ โรคนี้ในระยะแรก ซึ่งทำให้แพทย์มีโอกาสสูงขึ้น ที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้
แต่แพทย์ก็ไม่สามารถที่จะตรวจพบ มะเร็งทุกชนิดในระยะเริ่มแรกได้ทั้งหมด ในบทความนี้จะได้กล่าวถึง มะเร็งบางชนิด ที่สามารถตรวจพบได้ในระยะแรก ทั้งโดยตัวของผู้ป่วยเอง โดยแพทย์ หรือโดยการตรวจด้วยวิธีพิเศษอื่นๆ และสามารถทำให้อัตราการหายจากโรคสูงขึ้น

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง โดยจะพบมากในช่วงอายุ 40 ถึง 70ปี ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยง ต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้น คือ ผู้ที่มีญาติ(พี่ น้อง มารดา) เป็นมะเร็งเต้านม, เคยเป็นมะเร็งทางมดลูก, รังไข่, หรือลำไส้ใหญ่, ผู้ที่มีความผิดปกติของยีนบางชนิด (BRCA1,BRCA2) และผู้ที่มีอายุสูงขึ้น จะมีอัตราเสี่ยงสูงขึ้น การตรวจพบมะเร็งเต้านม ในระยะแรก และยังไม่มีการแพร่กระจาย ทำให้โอกาสในการหายขาด จากโรคสูงมาก (80-90%) มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ีผู้หญิงทุกคน สามารถจะตรวจได้ด้วยตัวเอง การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง อย่างน้อยเดือนละครั้ง, การตรวจร่างกายโดยแพทย์ปีละครั้ง และการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์ ที่เรียกว่า Mammography โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ตรวจทุกปี และอายุมากกว่า 50 ปี ตรวจ 2 ปีต่อครั้ง และในกรณีที่แพทย์สงสัย หรือมีความผิดปกต ิอาจทำให้ตรวจบ่อยกว่านี้ได้ การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนี้ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า ทำให้อัตราการหายขาดจากโรคะเร็งนี้สูงขึ้น

มะเร็งปากมดลูก

เป็นมะเร็งที่พบในเพศหญิงอีกเช่นเคย และพบในอัตราที่สูง 90% ของมะเร็งที่ตรวจพบ ในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งโดยวิธีฉายแสง (รังสีรักษา) หรือการผ่าตัด การตรวจที่ได้ผลเป็นที่แน่นอน และยอมรับไปทั่วโลก เป็นการตรวจที่สะดวก รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายไม่แพง คือ การตรวจด้วยวิธี PAP SMEAR ซึ่งสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ตรวจ ไปพร้อมการตรวจภายใน โดยนำเซลล์จากปากมดลูกไปย้อมสีพิเศษ และดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้ามีมะเร็งปากมดลูก จะพบเซลล์มะเร็ง ซึ่งบางครั้งสามารถวินิจฉัยได้ โดยที่ไม่เห็นเนื้องอกด้วยตาเปล่า สตรีทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือเคยมี (ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม) ควรจะต้องได้รับการตรวจทุกปีใน 3 ปีแรก ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ อาจจะห่างออกไปได้ เช่น ทุก 2-3 ปี สำหรับหญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ถ้าอายุเกิน 20-25 ปี ควรจะได้รับการตรวจเช่นกัน

มะเร็งทางลำไส้ใหญ่

พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง โดยพบในเพศชายได้สูงกว่าเล็กน้อย และพบบ่อยมากขึ้นเมื่ออายุเกิน 50 ปี (แต่ก็อาจจะพบในคนหนุ่มสาวได้) ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ อาจจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร หรือมีโลหิตจาง (จากการเสียเลือดไปทางลำไส้ใหญ่) หรือมีอาการเปลี่ยนแปลง ในการถ่ายอุจจาระ เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด, ท้องผูก หรือท้องเสียผิดปกติ, อุจจาระก้อนเล็กลง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ มักจะมีโรคลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง แล้วทำให้โอกาส ที่จะรักษาให้หายขาดได้ลดลง ผู้ที่มีพี่, น้อง, บิดา, มารดา เป็นมะเร็งทางลำไส้ใหญ่ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งทางลำไส้ใหญ่สูงขึ้น การตรวจทางทวารหนัก (Rectal Examination) และการตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Stool Occult Blood) ทุกปีในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วย การส่องกล้อง (Colonoscope) หรือตรวจลำไส้ใหญ่ ด้วยรังสีเอกซเรย์และสวนแป้ง (Barium Enema) จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบ มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึง โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีมากขึ้น

มะเร็งของต่อมลูกหมาก

เป็นมะเร็งที่พบในเพศชายเท่านั้น และพบในคนสูงอายุ คือ มากกว่า 70 ปี ขึ้นไป ซึ่งมักจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอายุมาก อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก จะคล้ายกับอาการของต่อมลูกหมากโต โดยอาจจะมีอาการ ปัสสาวะลำบาก ไม่คล่อง ไม่มีแรง หรือปัสสาวะไม่ออกเลย ถ้ามีการกระจายของมะเร็งไปยังกระดูก ก็อาจจะมีอาการปวดตามสะโพก หลัง หรือต้นขา หรือมาด้วยอาการของกระดูกหัก
การตรวจต่อมลูกหมากโดยนิ้วมือ โดยผ่านทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination) ทุกปี ในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และการตรวจเลือด PSA (Prostatic Specific Antigen) จะช่วยในการวินิจฉัย โรคมะเร็งทางต่อมลูกหมากได้มากขึ้น

มะเร็งของตับ

มะเร็งของตับ เป็นมะเร็งที่พบได้ทั้ง 2 เพศ โดยพบในผู้ชายมากกว่า และพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับตับแข็ง (ทั้งจากการดื่มสุรา และจากสาเหตุอื่นๆ) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง, และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก
มะเร็งของตับ เป็นโรคที่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษา ถ้าสามารถตรวจพบในระยะแรก และสามารถผ่าตัดออกได้หมด จะมีโอกาสรักษาหายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ จะเป็นระยะ ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
การหลีกเลี่ยงแอกอฮอล์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ในคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน จะช่วยลดอัตราเสี่ยงลงได้ (ไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนป้องกัน) สำหรับผู้ที่อัตราเสี่ยงอยู่แล้ว (มีตับแข็ง หรือมีโรคตับอักเสบบีหรือซี) ควรให้มีการตรวจร่างกาย และตรวจเลือดดูสาร AFP (Alfa Fetoprotein) ทุก 6 เดือน และตรวจตับด้วยอัลตราซาวน์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อผลเลือดผิดปกติ หรือทุก 1-2 ปี จะช่วยให้พบโรคในระยะแรกได้
ในอนาคต คงจะมีวิธีการตรวจใหม่ๆ ที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก แต่ในระหว่างนี้ คงจะต้องระมัดระวังตัวเอง โดยการลดปัจจัยเสี่ยงลง




อาการของมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ


ในระยะแรกมักจะไม่ปรากฏอาการ ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้น (อาจนานเป็นเดือน เป็นปี) จะมีอาการทั่วไป (พบร่วมกันในมะเร็งทุกชนิด) คือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาจมีไข้ เรื้อรัง ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ซีด เป็นลม ใจหวิว คล้ายหิวข้าวบ่อย ส่วนอาการเฉพาะของแต่ละโรค (ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนจะมีอาการทั่วไป) เกิดจากก้อนมะเร็งไปกดเบียดหรือทำลายอวัยวะที่เป็น พอจะสรุปได้ดังนี้
1.
มะเร็งผิวหนัง ส่วนมากจะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน หรือ จุดตกกระในคนแก่ โดยมีอาการคันแตกเป็นแผล เรื้อรังไม่ยอมหาย โดยไม่มีอาการเจ็บปวด ต่อมาแผลโตขึ้นเร็ว และมีเลือดออก มีสาเหตุสัมพันธ์กับการถูกแสงแดด (แสงอัลตราไวโอเลต) การกินยาที่เข้า สารหนู หรือน้ำมันดินที่มีผสมอยู่ในยาจีนยาไทย การสัมผัสถูกสารหนู หรือน้ำมันดิน การระคายเรื้อรังต่อไฝ ปานหรือหูดที่มีอยู่ก่อน
2.
มะเร็งในช่องปาก จะมีก้อนหรือแผลเรื้อรังเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก เยื่อบุช่องปาก ลิ้น โดยเริ่มจากฝ้าขาวๆ ที่เรียกว่า ลิวโคพลาเคีย (Leukoplakia) มีสาเหตุสัมพันธ์กับการระคายเรื้อรัง เช่น กินหมาก จุกยาฉุน ฟันเกหรือใส่ฟันปลอมไม่กระชับ ดื่มเหล้าเข้มข้น (ไม่ผสมเจือจาง) สูบบุหรี่
3.
มะเร็งที่จมูกและโพรงหลังจมูก มีอาการเลือดออกทางจมูก หน้าชา คัดจมูก ปวดศีรษะ ต่อมาอาจมีเลือดปนน้ำเหลืองออกทางจมูก หูอื้อ กลืนไม่ได้ ตาเข ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มะเร็งที่โพรงหลังจมูก มีสาเหตุสัมพันธ์กับการดื่มเหล้าเข้มข้น สูบบุหรี่ การติดเชื้อไวรัสอีบีวี (EBV)
4.
มะเร็งที่กล่องเสียง มีอาการเสียงแหบเรื้อรังและอาจมีอาการเจ็บคอ เวลากลืนเหมือนมีก้างติดคอต่อมามีเลือดออกปนกับเสมหะ มีสาเหตุสัมพันธ์กับการดื่มเหล้าเข้มข้น การสูบบุหรี่จัด การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี
5.
มะเร็งปอด มีอาการไอเรื้อรัง น้ำหนักลด ไอออกเป็นเลือดปนเสมหะ มีสาเหตุสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ การสูดควันดำจากท่อไอเสียรถ เขม่าจากโรงงาน สารใยหิน (asbestos) หรือฝุ่นนิกเกิล
6.
มะเร็งหลอดอาหาร เริ่มแรกอาจรู้สึกเจ็บเวลากลืนอาหาร ต่อมากลืนข้าวสวยไม่ได้ ต่อมากลืนข้าวต้มไม่ได้ จนในที่สุดกลืนได้แต่ของน้ำๆ หรือ กลืนอะไรก็ไม่ลงเลย พบมากในผู้ชาย มีสาเหตุสัมพันธ์กับการกินอาหาร และดื่มของร้อนๆ (เช่น น้ำชาร้อน ๆ), การดื่มเหล้าเข้มข้น, การสูบบุหรี่, ภาวะขาดวิตามินเอ เป็นต้น
7.
มะเร็งกระเพาะอาหาร มีอาการท้องอืด แน่นท้องอยู่เรื่อย เบื่ออาหาร ต่อมาอาจมีอาเจียน คลำก้อนได้ที่ใต้ชายโครงซ้าย น้ำหนักลด ซีด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ มีสาเหตุสัมพันธ์กับการเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ จากเชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) แบบเรื้อรัง, การกินอาหารที่มีสารไนเทรตหรือไนโตรซามีน, อาหารเค็มหรืออาหารหมักเกลือ, อาหารประเภทรมควัน,  กรรมพันธุ์, การมีประวัติการผ่าตัดกระเพาะอาหาร เป็นต้น
8.
มะเร็งตับอ่อน เริ่มแรกอาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ต่อมามีอาการปวดท้อง และปวดหลังดีซ่าน ถ่ายอุจจาระสีซีดขาว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีสาเหตุสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ สารไนโตรซามีนสารไฮโดรคาร์บอน การกินอาหารพวกไขมันและโปรตีนสูง และอาจมีสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์
9.
มะเร็งลำไส้เล็ก มักมีอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ น้ำหนักลด เป็นไข้ หรือมีภาวะลำไส้อุดตัน (ปวดท้องรุนแรง อาเจียน) บางรายอาจมีอาการดีซ่าน ถ่ายอุจจาระสีซีด ขาว อาจคลำได้ก้อนในช่องท้อง อาจมีสาเหตุสัมพันธ์กับการเป็นลำไส้เล็กอักเสบเรื้อรัง
10.
มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเดินแบบเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือด หรือมูกปนเลือดเรื้อรัง ปวดท้อง ปวดหลัง ซีด น้ำหนักลด มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ เช่น ภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง, การกินอาหารที่มีกากใยน้อย แต่กินพวกไขมันมาก, ประวัติการเป็นมะเร็งในญาติพี่น้อง เป็นต้น
11.
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะมีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นก้อนที่บริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ อาจมีไข้เรื้อรัง มีสาเหตุสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส เอชทีแอลวี-1, เชื้ออีบีวี, เอดส์, การได้รับยาเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัดมาก่อน เป็นต้น
12.
มะเร็งเต้านม คลำได้ก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม (เดิมเป็นปกติ เพิ่งมาบุ๋มตอนหลัง) หรือมีน้ำเหลืองหรือเลือดออกทางหัวนม ต่อมาจะมีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันโต ผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ เช่น ผู้หญิงที่มีมารดาเป็นมะเร็งเต้านม ก่อนวัยหมดประจำเดือน หรือมีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้หลังวัยประจำเดือน, ผู้หญิงเกิน 50 ปี ที่ยังไม่มีบุตร, ผู้หญิงที่มีบุตรคนแรกเมื่ออายุเกิน 30 ปี, ผู้หญิงที่มีประวัติเป็นโรคเต้านมเรื้อรัง, คนอ้วน, ผู้ที่สัมผัสถูกรังสี หรือดื่มเหล้า
13.มะเร็งปากมดลูก มีเลือดออกเวลาร่วมเพศ มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด หรือมีตกขาวเรื้อรัง มีสาเหตุสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี (HPV/Human papilloma virus) ของปากมดลูกซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ร่วมกับปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การกินยาเม็ดคุมกำเนิด การสูบบุหรี่ เป็นต้น โรคนี้พบมากในผู้หญิงที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย มีสามีหลายคน หรือมีสามีสำส่อนทางเพศ และในหญิงบริการ
14.มะเร็งอัณฑะ พบมีก้อนแข็งที่ถุงอัณฑะ และโตขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งอาจมีอาการปวดร่วมด้วย สาเหตุ ยังไม่ทราบ พบว่า ผู้ที่มีอัณฑะไม่เลื่อนลงถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด อาจค้างอยู่ในช่องท้อง หรือขาหนีบ มีโอกาสเป็นมะเร็งอัณฑะมากขึ้น
15.มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัดและบ่อย มีสาเหตุสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ การสัมผัสถูกสารอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (aromatic hydrocarbon) ที่เป็นสารประกอบของสีที่ใช้ทางอุตสาหกรรม, การกินอาหารพวกเนื้อปิ้ง ย่าง และไขมันมาก
16.มะเร็งต่อมลูกหมาก มักไม่มีอาการแสดง จนกระทั่งแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง ทำให้มีอาการขัดเบา ปัสสาวะลำบาก หรือ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดหลังหรือปวดสะโพกน้ำหนักลด มักพบในคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีสาเหตุสัมพันธ์กับฮอร์โมนแอนโดรเจน และพบว่าผู้ที่มีประวัติญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ หรือเคยทำหมันชาย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้สูงขึ้น
17.มะเร็งกระดูก มีอาการข้อบวม กระดูกบวม บางครั้งพบาหลังเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เข้าใจว่าเป็นกระดูกหักได้
18.มะเร็งของลูกตาในเด็ก (Retemoblastoma) นัยน์ตดำของเด็กมีสีขาววาวคล้ายตาแมว เด็กจะบ่นว่าตาข้างนั้นมัว หรือมองอะไรไม่เห็น เมื่อเป็นมากขึ้น ตาจะเริ่มปูดโปนออกมานอกเบ้าตา
19.มะเร็งรังไข่หรือไต มีอาการมีก้อนในท้อง ท้องมาน ส่วนมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งตับ มะเร็งในสมอง จะมีอาการแบบเดียวกับเนื้องอกในสมอง มะเร็งต่อมไทรอยด์





มะเร็งเต้านม
มะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งตับ
      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น